Large Image |
ชื่อหนังสือ :
ปีพิมพ์ :
จัดทำโดย :
รายละเอียด : |
ระบบฐานข้อมูลความหลากหลายของระบบนิเวศเชิงพื้นที่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พ.ศ. 2550
ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ระบบนิเวศเชิงพื้นที่เป็นการบูรณาการของพารามิเตอร์หลายอย่างเพื่อให้สามารถแสดงขอบเขตของพื้นที่เชิงบูรณาการ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความหลากหลายของระบบนิเวศเชิงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากการบูรณาการข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลเชิงพื้นที่อื่น ๆ ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การวิเคราะห์พื้นที่ประกอบด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักเพื่อกำหนดระบบการจำแนก ซึ่งได้แก่ปริมาณน้ำฝน ลักษณะภูมิสัณฐาน ระดับความสูงของพื้นที่ ความลาดชันของพื้นที่ ชนิดและความหนาแน่นของพืชพรรณ และคุณสมบัติของดิน วิธีดำเนินการได้สร้างฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ในแต่ละชั้นดังกล่าว โดยชั้นข้อมูลปริมาณน้ำฝนเชิงพื้นที่ใช้ข้อมูลน้ำฝนเฉลี่ยช่วง 15 ปี ซึ่งได้ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา จำนวน 264 สถานี และประมาณค่าด้วยวิธีเดซายเรนจ์ (decile range) เพื่อกำหนดเขตน้ำฝน แผนที่ภูมิสัณฐานสร้างโดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat TM และแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 ชนิดของพืชพรรณซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดของป่าไม้ได้จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat TM ส่วนความหนาแน่นของพืชพรรณ (Normalized Difference Vegetation Index : NDVI) จากข้อมูลดาวเทียม Landsat TM ช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2545 ข้อมูลเชิงพื้นที่ของดินได้จากข้อมูลกลุ่มชุดดิน (Soil series group) ที่จัดทำโดยกรมพัฒนาที่ดินและปรับปรุงขอบเขตให้สอดคล้องกับภูมิสัณฐาน
การบูรณาการชั้นข้อมูลดังกล่าวตามเงื่อนไขที่กำหนดประกอบด้วยหน่วยหลัก 5 หน่วย และมีหน่วยย่อยถึงลำดับสุดท้าย 44 หน่วยพื้นที่ พบว่าหน่วยพื้นที่ในพื้นที่ภูเขามีระบบนิเวศส่วนใหญ่เป็นป่าประเภทผลัดใบ พื้นที่ป่าไม้พบในภูมิสัณฐานประเภทภูเขา จากการพิจารณาปัจจัยซึ่งใช้ระบบที่ปรากฏในพื้นที่เป็นหลักดังกล่าวยังไม่ปรากฏความเด่นชัดที่จะสะท้อนความแตกต่างของระบบนิเวศ โดยภาพรวมระบบนิเวศของพื้นที่ก็คือระบบที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ยังคงเหลือระบบที่เป็นธรรมชาติน้อยมาก ที่ยังคงเหลือตามธรรมชาติมีเพียงพื้นที่อนุรักษ์คืออุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การควบคุมระบบทั้งหมดเป็นกิจกรรมของมนุษย์
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สามารถบูรณาการชั้นข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเงื่อนไขทางตรรกหรือคณิตศาสตร์ได้จำนวนมาก สามารถแยกระบบนิเวศเชิงพื้นที่ได้ทั้งหน่วยหลักและหน่วยย่อย ทำให้กำหนดยุทธศษสตร์การบริหารระบบนิเวศเชิงพื้นที่ตามหลักการทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น
+ หลักการและเหตุผล
+ วัตถุประสงค์
+ ขอบเขตและข้อจำกัดของการวิจัย
+ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
+ พื้นที่ศึกษา
+ วิธีการศึกษา
+ ผลการศึกษา
+ ข้อเสนอแนะ
|